ก่อนหน้านี้เคยออกแบบระบบน้ำประปาหมู่บ้านโดยการติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อดูดน้ำเข้าใช้งานในบ้านไปแล้ว แต่ปัญหาหลักคือน้ำประปาของหมู่บ้านจะไม่พอใช้งานในการเกษตร ครั้นจะรอเพียงฟ้าฝนอย่างเดียวก็เดาใจยาก เพราะบางปีฝนก็เยอะ บางปีก็แล้ง ด้วยเหตุนี้ผมจึงตัดสินใจลงทุนกับระบบน้ำก่อนเพราะน้ำคือหัวใจหลักของการทำเกษตร

สิ่งที่จะทำหลัก ๆ ในโครงการนี้

  1. ขุดเจาะน้ำบาดาล
  2. กรองน้ำบาดาล
  3. ติดตั้งปั๊มน้ำสำหรับใช้ในบ้าน
  4. ติดตั้งปั๊มน้ำสำหรับใช้ในสวนเกษตร
  5. ติดตั้งระบบเปิดปิดน้ำอัตโนมัติโดยจะต้องควบคุมได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

** หัวข้อนี้จะมีหลายงานในเรื่องเดียว จะมีการอัพเดตการทำงานเรื่อย ๆ แต่ละหัวข้อ **

ไดอะแกรมระบบน้ำบาดาล และระบบอัตโนมัติ

ภาพรวมระบบน้ำ

** จากภาพด้านบนนั้นเป็นองค์รวมทั้งหมดของสวนผมที่สรุปเอาไว้ ให้ดูว่าแต่ละอย่างประกอบและเชื่อมต่อกันอย่างไร แต่หน้างานจริง ๆ ไม่ได้วางแบบนี้เป้ะ ๆ **

1. ขุดเจาะบาดาล

แปลงเกษตรของผมจะตั้งอยู่ที่ ต. ห้วยโป่ง อ. โคกสำโรง จ. ลพบุรี ซึ่งปัญหาของพื้นที่แถวนี้ก็คือ น้ำบาดาลขุดได้ยากเนื่องจากเป็นชั้นหินแกรนิต บางจุดก็จะไม่เจอน้ำเลย จุดที่เจอส่วนมากก็ต้องขุดลงไปลึก แต่จากการหาข้อมูลหลาย ๆ ที่และการสำรวจจากผู้ให้บริการขุดบาดาลจากหลายจ้าว ก็ยังพอมีลุ้นว่าสวนของผมขุดลงไปแล้วจะเจอน้ำ

ค่าใช้จ่ายในการขุดบาดาลเหมา ๆ เมตรละ 1,000 บาท รวมท่อน้ำ, ปั๊มน้ำ, ลูกลอยไฟฟ้า ขนาดท่อที่ขุดคือ 6 > 4 นิ้ว ซึ่งก็คือเปิดท่อไปที่ 6 นิ้วก่อน เมื่อเริ่มเจอน้ำก็จะลดลงเหลือแค่ 4 นิ้ว โดยตลอดบ่อที่เจาะลงไปก็จะมีท่อพีวีซีวางลงไปตลอดเพื่อป้องกันบ่อทรุด

2. กรองน้ำบาดาล

สภาพน้ำบาดาลถึงแม้เราจะเห็นใส ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วมักจะมีทั้งสนิม, กลิ่น, หินปูน เป็นต้น ซึ่งน้ำดิบเหล่านี้จะประกอบด้วยอะไรบ้างนั้นก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ในสวนของผมจะมีหินปูนค่อนข้างมาก แต่เพื่อความปลอดภัยเนื่องจากผมจะนำน้ำดังกล่าวมาใช้งานภายในบ้านด้วย จึงเลือกใช้งานเครื่องกรองถังไฟเบอร์แบบ 3 ขั้นตอน ซึ่งจะประกอบด้วย

  • แอนทาไซน์ + แมงกานีส กรองโคลน กรองสังกะสี ช่วยทำให้น้ำใสขึ้น
  • คาร์บอน กรองกลิ่น
  • เรซิน  กรองหินปูน

ขั้นตอนการกรองนั้น ผมจะนำเครื่องกรองทั้ง 3 ขั้นตอนวางไว้หลังถังพักน้ำที่ 1 เพื่อให้น้ำดิบที่ดูดขึ้นมานั้นได้ตกตะกอนไประดับนึงก่อน หลังจากนั้นก็จะใช้ปั๊มน้ำต่อหลังเครื่องกรองเพื่อทำการดูดน้ำเข้าถังพักที่ 2 และต่อท่อแยกจากปั๊มน้ำเข้าบ้านอีก 1 ท่อ

สาเหตุที่ทำแบบนี้

  • ผมต้องการน้ำสะอาดสำหรับไปใช้รดน้ำต้นไม้ เพราะปริมาณหินปูนที่เยอะมากมันจะทำให้ดินเป็นด่าง (PH มากกว่า 7) ไม่อยากมาแก้ไขปัญหาดินในภายหลัง
  • ส่วนท่อที่แยกออกไปใช้ในบ้านนั้น ไม่เข้าถังพักเพราะแรงดันของน้ำที่ออกมาจากเครื่องกรองนั้นเพียงพอที่ปั๊มน้ำจะดันไปใช้ในบ้าน โดยที่ความแรงของน้ำไม่ตก
  • สำหรับที่จะใช้ในสวนเกษตรจำเป็นต้องมีถังพักอีก 1 ครั้ง เพราะน้ำที่ออกมาจากเครื่องกรองจะมีปริมาณและแรงดันไม่พอที่ปั๊มจะดันไปใช้งานระยะไกลได้

** คุณภาพของน้ำที่ออกมาจากเครื่องกรอง มีคุณภาพระดับเดียวกับน้ำประปา สามารถใช้งานได้ทั่วไป แต่ยังไม่แนะนำให้ไปใช้บริโภค เนื่องจากเป็นการกรองแบบไม่ละเอียด **

3. ติดตั้งปั๊มน้ำสำหรับใช้ในบ้าน

ในส่วนของปั๊มน้ำที่ใช้ในบ้านผมเลือกเป็นปั๊ม AC แบบ Inverter เพราะว่าปั๊มน้ำจำเป็นต้องใช้เวลากลางคืนด้วย ระบบโซล่าเซลล์ที่บ้านก็เป็นแบบใช้กลางวันอย่างเดียว จึงเลือกแบบ Inverter เพราะคิดว่ามันน่าจะประหยัดไฟได้ดีกว่าแบบธรรมดา

ในการเลือกปั๊มน้ำอัตโนมัติในบ้านนั้นก็เลือกตามขนาดการใช้งาน ดูตามสเป๊คของเครื่องซึ่งถ้าบ้านชั้นเดียว หรือสองชั้นก็ใช้ปั๊มขนาด 250 วัตต์ก็เพียงพอแล้วครับ

จากเดินปั๊มตัวนี้วางหน้าที่ไว้ว่าจะใช้สำหรับดูดน้ำอย่างเดียว แต่ด้วยความที่น้ำที่ออกจากเครื่องกรองน้ำมีน้อยไม่สามารถส่งไปถึงสวนเกษตร จึงเปลี่ยนแผนใหม่ใช้ปั๊มนี้ดูดน้ำไปเก็บถังพักอีก 1 ใบด้วย ด้วยขนาดท่อ 1 นิ้ว ผมใช้ดูดเก็บในถัง 3,000 ลิตรก็ใช้เวลาดูดหลายชั่วโมง ตัวปั๊มเองก็ยังทำงานได้ปกติ ความร้อนก็มีน้อยมาก

4. ติดตั้งปั๊มน้ำสำหรับใช้ในสวนเกษตร

ปั๊มเกษตรผมเลือกเป็นแบบ DC ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งจากแบตและจากแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งรุ่นที่เลือกใช้นี้ก็ต่อตรงจากแบตหรือแผงได้เลย ไม่ต้องมี Controller เพิ่มแล้ว จากการทดลองใช้เปิดทดสอบประมาณ 1 ชั่วโมง ปั๊มสามารถทำงานได้ไม่ติดขัด

ผมต่อด้วยแผงขนาด 380 วัตต์ 4 แผง ต่อขนานกันก่อนเพื่อเพิ่มจำนวนแอมป์ แล้วนำทั้งสองสตริงมาทำอนุกรมอีกที เพื่อเพิ่มแรงดัน (ที่ใช้ 4 แผงเพราะตอนแรกตั้งใจจะใช้กับปั๊ม 2 ตัว แต่ปรากฎว่าบาดาลต้องขุดลึกเกิน 100 เมตร หาปั๊มแบบโซล่าเซลล์ไม่ได้ จึงไปใช้ปั๊มไฟบ้านแทน)

ในช่วงที่แทบจะไม่มีแดด ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ตัวปั๊มเองก็สามารถทำงานได้ดี แต่แรงดันน้ำอาจจะตกลงบ้าง แต่ภาพรวมแล้วยังถือว่าส่งไปได้ไกล และน้ำออกเยอะพอดู

สาเหตุที่ไม่ใช้ปั๊มเกษตรรวมกับปั๊มน้ำในบ้าน เพราะมีแผนจะผสมพวกปุ๋ยน้ำและสารอื่น ๆ ผ่านไปทางท่อน้ำด้วย เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพจึงเลือกแยกออกมา

** อนาคตจะติดตั้งโซล่าเซลล์แบบไฮบริดรวมกับไฟบ้าน เพิ่มแบตเตอรี่เข้าในระบบ จะได้ใช้โซล่าเซลล์ให้คุ้ม ๆ ** 

5. ติดตั้งระบบเปิดปิดน้ำอัตโนมัติโดยจะต้องควบคุมได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

ในตลาดเมืองไทยมีผู้ให้บริการหลายคนที่ขายคอนโทรลเลอร์เปิดปิดน้ำผ่านระบบมือถือ แต่ผมดูแล้วไม่ค่อยชอบ อาจจะเป็นเพราะหน้าตาของตัวคอนโทรลเลอร์ด้วย รวมไปถึงระบบที่เค้าใช้มันก็ค่อนข้างเฉพาะกับของเค้าเอง จึงหันไปหาข้อมูลจนพบกับ Controller ของจีนที่สามารถใช้งานได้กับ Tuya และ Smart Life อีกอย่างราคาก็ถูกด้วย

รุ่นที่ผมซื้อจะเป็นแบบ 8 โซน มีอะแดปเตอร์ลดแรงดันไฟบ้านจนเหลือเพียง 24 โวลต์ แล้วจากตัวคอนโทรลเลอร์เราก็จะต่อสายไฟเส้นเล็ก ๆ ไปยังโซลินอยด์วาล์วที่ติดเอาไว้กับท่อส่งน้ำขนาด 1 นิ้วที่ปั๊มเกษตร เมื่อต้องการใช้งานก็มากดที่คอนโทรลเลอร์เพื่อจ่ายไฟไปยังโซลินอยด์วาล์ว นอกจากนี้ยังสามารถเปิดปิดผ่านโทรศัพท์มือถือ ตั้งเวลารดน้ำได้ด้วย

Tuya Smart Water Timing

ข้อดีอีกอย่างสำหรับ Tuya และ Smart Life คือ สามารถแชร์ Device ของเราให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ใช้งานได้ด้วย

6. สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ลำดับ รายการ ราคา (บาท)
1 ค่าขุดบาดาล 100,000
2 ค่าเครื่องกรองน้ำ ถังไฟเบอร์ 3 ขั้นตอน 13,000
3 ค่าคอนโทรลเลอร์ควบคุมระบบน้ำ 2,000
4 ค่าปั๊มน้ำสำหรับต่อเข้าบ้าน และดูดเข้าถังพัก 2,500
5 ค่าปั๊มน้ำโซล่าเซลล์สำหรับดูดไปใช้งานในสวน 3,900
6 ค่าแผงโซล่าเซลล์ 16,000
7 ค่าแรงช่างติดตั้งแผง 1,000
8 ค่าโซลินอยด์วาล์ว ขนาด 1 นิ้ว (ต่อตัว) 500
9 ค่าข้อต่อต่าง ๆ ตีเหมา ๆ 5,000
10 ค่าถังพักน้ำ 3,000 ลิตร 15,000
รวม (โดยประมาณ) 158,900

Related Posts